► ใช้ ))เสียงสติ(( บางวันสุขเบา บางวันหนักอึ้ง เกิดจากอะไร?
▼ เพราะความคาดหวังผิดๆเป็นสำคัญ
พอมีความเครียดจากงาน บวกกับการคาดหวังในช่วงเริ่มต้นทำสมาธิ ก็เลยเกิดการประสานงากัน ระหว่างความเครียดเดิมกับความคาดหวังใหม่ แทนที่จะเบาลง เลยกลายเป็นหนักขึ้น
นักทำสมาธิส่วนใหญ่ทราบหลักการว่า ควรรู้กายรู้ใจเฉยๆโดยไม่คาดหวัง แต่ของแบบนี้ แค่เผลอให้มันเกิดขึ้นในแวบแรก ก็มักจะกลายเป็นสายโซ่สืบเนื่อง ค่อยๆสะสมความหนักขึ้นเรื่อยๆในแต่ละทีที่ผ่านไป โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว
วิธีที่จะเกิดสติรู้ตัวว่าหลงคาดหวังไปถึงไหนแล้ว คือ ให้รู้เข้ามาที่จิตบ้าง เตือนตัวเองให้สังเกตบ้างว่า แต่ละขณะเกิดอะไรขึ้น จิตกำลังหนักหรือจิตเบาอยู่
ถ้าหนักอยู่ ให้สันนิษฐานว่ากำลังคาดหวัง จ้องลมหนักไป ด้วยความคาดหวังว่าใจจะเบา ยิ่งหวังมากยิ่งเร่งมาก เกิดกำแพงบดบังจิตมาก คุณจะเกิดความเข้าใจได้เองในภายหลังว่า ความคาดหวังคือความหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเคยทำได้ดี เคยทำได้เบา ก็ไปจำตรงนั้น และนึกว่าการฟัง ))เสียงสติ(( พร้อมดูลม จะต้องเบาอย่างนั้นทุกครั้ง
แต่ถ้ากำลังรู้สึกเบาอยู่ ให้สันนิษฐานว่ากำลังรู้ลมสบายๆ หรือรู้ลมครึ่ง รู้จิตครึ่ง ยิ่งหวังน้อยหรือไม่หวังเลยยิ่งปลอดโปร่ง ยิ่งเหลือแต่ รวมทั้งจับจุดถูกด้วยว่า ถ้าเรารู้เข้ามาที่จิตบ้างในระหว่างรู้แต่ละลม ความคาดหวังจะเบาลงเอง หรือไม่สบช่องเกิดขึ้นเลย
อีกประการหนึ่ง เมื่อรู้เข้ามาที่จิตจริงๆ อาการของจิตจะค่อยๆแสดงความไม่เที่ยงตั้งแต่ลมหายใจแรกๆที่เห็นความหนักความเบา
หัดหายใจสบายแบบ ‘ไม่เอาแต่จ้องลม’ ให้ได้เรื่อยๆ แม้ในระหว่างวันที่ไม่ได้ฟัง ))เสียงสติ(( และถ้าทำงานเครียดๆตึงๆก็สังเกตใจตัวเองด้วยว่า จะมีความคาดหวังเหมือนอยากพึ่งน้ำบ่อหน้า นึกว่าฟัง ))เสียงสติ(( แล้วจะเบาลงทันใด
โลกภายในของจิต ผิดองศานิดเดียว มันต่างเป็นคนละเรื่อง ส่วนใหญ่ที่หลงวนกันเป็นสิบๆปีก็เพราะติดอยู่กับสิ่งที่เคยทำได้แบบฟลุกๆ ฟลุกที่เคยรู้เข้ามาที่จิตตามจริงจนเบา เสร็จแล้วพอไม่ฟลุก ก็ตั้งใจเค้นตัวเองให้จ้องลม ด้วยความคาดหวังว่าจะเบาแบบฟลุกๆอย่างนั้นอีก
พอเหตุไม่ถูก ผลก็เลยผิดเป็นธรรมดา
แต่ถ้าเหตุไม่ผิด ผลก็จะถูกเสมอ!
► เพิ่งได้ฟัง ))เสียงสติ(( ทำไมหน้าผาก (หรือท้ายทอย) มีอาการหน่วงเสียว?
▼ เป็นช่วงปรับตัว
เท่าที่พบมาเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นสัญญาณปรับการทำงานของสมอง หากยิ่งฟังเสียงแล้วยิ่งหัวโล่ง ยิ่งมีปฏิกิริยาลบๆน้อยลงเรื่อยๆ แปลว่าคลื่นสมองถูกจูนใหม่ให้ได้สมดุลกว่าเดิม แต่หากถึงขั้นปวดหัว ใช้กี่ครั้งไม่ดีขึ้นเลย แนะนำให้เลิกใช้ )) เสียงสติ ((
► ฟัง ))เสียงสติ(( แล้วเกิดสมาธิบ้าง แต่คันตัวยุบยิบเพราะอะไร?
▼ เป็นธรรมชาติการปรับตัวทางกายของผู้เริ่มได้สมาธิ
ไม่เฉพาะผู้ใช้ )) เสียงสติ (( เท่านั้น ใครก็ตามที่เริ่มทำสมาธิได้ ร่างกายจะเปลี่ยนภาวะจากหยาบเป็นละเอียด ซึ่งก็มีอาการไปต่างๆ โดยมากจะคันยุบยิบตามเนื้อตัวเหมือนมีมดแมลงไต่ตอม ขอให้สังเกตว่าเมื่อทำไปเรื่อยๆ ทำใจเฉยๆ จนอาการคันยุบยิบหายไป (จะยกมือเกาเล็กๆบ้างก็ไม่เสียหาย) คุณจะสบายเนื้อสบายตัวกว่าเดิม แม้ในชีวิตประจำวัน
► ใช้ ))เสียงสติ(( แล้วจะเสพติดไหม?
▼ อาจมีบ้างในช่วงแรก
)) เสียงสติ (( เปรียบเหมือนสถานที่วิเวก เช่น ป่าลึก ถ้ำเปลี่ยว ทะเลกว้าง ที่ช่วยให้เกิดความรู้สึกสงบ สะอาด กระจ่างใจ ขับไล่ความฟุ้งซ่านออกจากหัวได้ ถ้าติดใจบ้างในช่วงสมาธิยังไม่แข็งแรง ก็น่าจะเป็นประโยชน์กว่าติดใจเครื่องกระตุ้นให้ฟุ้งซ่านทั้งโลก
ส่วนใหญ่เมื่อใช้ )) เสียงสติ (( ถึงจุดหนึ่ง พอมีสมาธิ มีสติแข็งแรงดีแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้อีก อย่าคิดว่าเป็นเหมือนสารเสพติดอะไร คุณจะยังมีสติ เป็นตัวของตัวเองครบทุกประการ เลือกได้ตลอดเวลาจะใช้หรือจะหยุด
จุดประสงค์สำคัญที่สุดของผม คือ พุ่งเป้าที่คนเมืองซึ่งยาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย ที่ทั้งชีวิตจะทำสมาธิดีๆสำเร็จ เมื่อเห็นช่องว่าเทคโนโลยีนี้ช่วยได้จริง ผมก็ไม่ลังเลที่จะทำให้มันเกิดขึ้น โดยพยายามเตือนให้ทุกคนทราบไปด้วยว่า จุดหมายสูงสุดทางพุทธ ไม่ใช่แค่ไปให้ถึงสมาธิอันเป็นสุข แต่คือการใช้สมาธิอันเป็นสุข มาเป็นบันไดช่วยให้เกิดสติรู้ว่า สุขไม่เที่ยง สมาธิจิตไม่เที่ยง กายใจไม่เที่ยง ซึ่งถ้าไปถึงตรงนั้นได้ จึงจะถือว่าคุ้มจริง และสำหรับบางคน ก็อาจไปถึงจุดนั้นได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเสียงสตินะครับ
► ใช้ ))เสียงสติ(( กับเด็กได้ไหม?
▼ ได้!
คลื่นสมองไม่มีเด็กไม่มีผู้ใหญ่ ถ้ากล่อมให้เด็กคนไหนฟังและสังเกตลมหายใจไปด้วยได้ ก็เกิดผลเหมือนกัน เผลอๆจะดีกว่าผู้ใหญ่ เพราะจิตเด็กยังไม่สกปรก ไม่ตกข้างด้วยอารมณ์ขยะมากนัก อีกทั้งไม่คาดหวัง ไม่สงสัยแบบผู้ใหญ่จำนวนมาก สมองจึงเข้าโหมด ฟัง สังเกตลม สังเกตสุขทุกข์ แล้วเข้าเป้าที่เราต้องการ คือ สงบแบบพร้อมรู้
การสงบแบบพร้อมรู้ คือภาวะที่สมองตื่นตัว หูตากว้างขวาง จึงไม่น่าสงสัย หากเด็กจะลดการดื้อ ลดภาวะติดเกม เข้าใจอะไรง่ายขึ้น เรียนเก่งขึ้น พูดจาฉลาดฉาดฉานขึ้น
แต่แน่นอน เมื่อเด็กคนหนึ่งไบรท์ขึ้น ก็อาจมีความหลงตัวได้ง่ายๆ คนให้เด็กฟัง ต้องทำไว้ในใจแต่แรกว่า การนำทางจากเราสำคัญกว่าการจูนสมองจากเสียง เราอยากให้เขาเก่งไปทางไหน ต้องตั้งทิศตั้งทางไว้ล่วงหน้าด้วย ส่วนใหญ่แล้ว คุณไปถึงไหน ลูกหลานก็ตามไปถึงนั่นนั่นเอง
► ใช้ ))เสียงสติ(( กับผู้มีความผิดปกติในการรับเสียงได้หรือไม่?
▼ อาจได้!
ถ้าเป็นความผิดปกติทางการได้ยินที่เกิดขึ้นกับหูชั้นนอก หรือหูชั้นกลาง (คือ air conduction เสีย) โดยที่ประสาทรับเสียงที่หูชั้นในยังปกติ ก็จะยังสามารถรับฟังได้ผ่านหูฟังชนิดที่เป็น bone conduction headphone ในกรณีที่แพทย์ตรวจแล้วพบว่าเป็นความผิดปกติที่เกิดจากประสาทรับเสียงเสีย (sensory hearing loss) ก็จะไม่สามารถใช้ bone conduction headphone ได้
(ขอขอบพระคุณ ผศ.พญ.วิไลรัตน์ นุชประมูล ที่กรุณาให้ข้อมูล)
► มีสิทธิ์ถึงฌานด้วย ))เสียงสติ(( ไหม?
▼ ได้!
))เสียงสติ(( ช่วยเคลียร์พื้นที่ให้จิตว่าง ปลอดจากความฟุ้งซ่าน จิตเปิดโล่งสบาย หายห่วง เนื้อตัวผ่อนคลาย เกิดลมหายใจยืดยาว นิ่มนวลได้ง่าย ซึ่งก็หมายความว่ามีองค์ฌานเกิดขึ้นได้ไม่ยาก
ฌานมีองค์ประกอบที่ชัดเจน สำรวจรู้ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องคาดเดาว่าถึงหรือยัง องค์ประกอบของฌานมี ๕ ประการ ได้แก่
๑) วิตก คือ ตั้งจิตให้เล็งรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ตั้งใจรู้สึกถึงลมหายใจ จนเด่นชัดกว่าความฟุ้ง
๒) วิจาร คือ จิตเกิดภาวะรู้สิ่งนั้นอย่างเดียว เช่นที่หลายคนเล่าว่าเห็นลมเป็นสาย เป็นลำ เป็นท่อ จิตเหมือนสัมผัสลมหายใจได้คล้ายมือสัมผัสสายลม
๓) ปีติ คือ สมองปลดล็อกจากคลื่นความคิด จิตเปิดสบาย เช่นที่บางคนบอกว่า สดชื่น เปิดกว้าง เบิกบาน
๔) สุข คือ จิตเปิดโล่งสบายจนเสถียร ไม่ใช่แค่วูบๆวาบๆ เช่นที่บางคนบอกว่า เบาเหมือนลอยนิ่งกลางฟ้า
๕) เอกัคคตา คือ จิตผนึกรวมอย่างใหญ่ รู้คงที่เนิ่นนาน ตรงนี้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิด นึกว่าแค่สุขเนียน หรือจิตรวมธรรมดา ก็แปลว่าถึงฌาน จริงๆเอกัคคตาต่างจากจิตธรรมดาเป็นคนละเรื่อง ความรู้สึกจะเหมือนถูกยกขึ้นไปสู่อีกมิติที่ไร้กาลเวลา ประสาทหูดับ รู้สิ่งเดียวเช่นลมหายใจในร่างนั่ง ไม่วอกแวกเลยตั้งแต่ต้นฌานยันท้ายฌาน
หากสมองปลดล็อกจากความคิด ได้เป็นปกติในระหว่างวันเรื่อยๆ (ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่าสมองส่วนหน้าลดการทำงานลง) จิตมีความติดใจที่จะระลึกถึงลมหายใจเข้าออกโดยความเป็นของไม่เที่ยง รู้สึกว่าสุขทุกข์ที่มากับแต่ละลมหายใจ แสดงความไม่เท่าเดิม ไม่ใช่ตัวเดิมอยู่เรื่อยๆ ภายในขอบเขตร่างกายที่ขยับพับไปพับมาเหมือนหุ่น หรือเหมือนโพรงว่างที่ไร้ตัวตน ถึงจุดหนึ่ง จิตจะรวมเป็นหนึ่ง แบบที่เรียกว่า ‘สัมมาสมาธิ’ ของแท้ และนั่นแหละที่จะรู้เองเห็นเองว่า พระพุทธเจ้าปรารถนาให้พวกเราเห็นอะไร